...ยินดีต้อนรับทุกท่านสู่เว็บบล็อกเพื่อการเรียนรู้ภาษาไทยด้วยความยินดี...

วันพุธที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2555

ความซื่อสัตย์(integriry)

...เป็นพฤติกรรมหรือความสามารถ(competency)อย่างหนึ่งที่มีประโยชน์และมีคุณค่าในความเป็นมนุษย์ของบุคคล ช่วยให้เกิดความไว้วางใจ  น่าเชื่อถือ และเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการเรียนรู้และดำเนินงานของบุคคลหรือองค์กร

.....การจัดการเรียนการสอนวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสำหรับครูในภาคเรียนที่ 2/2554 มุ่งเน้นในการใช้ความซื่อสัตย์เป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อกำกับกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งในแบบรายบุคคลและแบบทีม

.....ความซื่อสัตย์ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า honest หรือ integrity เป็นพฤติกรรมที่จริงใจตรงไปตรงมาไม่อคติไม่ลำเอียง เป็นความประพฤติที่สามารถนำมนุษย์และสังคมไปสู่ความสุขสงบได้

.....ประเภทของความซื่อสัตย์ ความซื่อสัตย์แบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น

.....1. ความซื่อสัตย์ทางวิชาการ ผู้ที่มีความจำเป็นจะต้องรักษาความซื่อสัตย์ประเภทนี้ไว้คือ
....ครู อาจารย์ เป็นบุคคลที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยครบถ้วนสมบูรณ์และทุ่มเทความอุตสาหะอย่างเต็มที่ในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เป็นศิษย์ นักเรียน และผู้ที่สนใจในการศึกษา จะต้องทำหน้าที่ในการอบรมสั่งสอน ถ่ายทอดความรู้ ทัศนคติที่ดีและถูกต้อง ปฏิบัติตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกศิษย์และคนทั่วไป จะปิดบังหรือบิดเบือนความรู้ไม่ได้ เพราะการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นความผิดขั้นมหันต์
.....นักเรียน จำเป็นจะต้องมีความซื่อสัตย์ มีความซื่อตรง ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และแสวงหาวิชาความรู้ที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันก็จะต้องมีคุณธรรม มีศีลธรรม ไม่กระทำโดยออกนอกกรอบบัญญัติของศาสนา

.....2. ความซื่อสัตย์ในการปฏิบัติงาน เป็นการประกอบอาชีพการงานด้วยความซื่อตรง ตรงต่อเวลา ไม่บิดพริ้ว หลีกเลี่ยง คดโกง ทุจริตในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ

.....3. ความซื่อสัตย์ต่อตนเอง บุคคลต้องซื่อสัตย์ต่อตนเองโดยดูแลรักษาสุขภาพให้มีความแข็งแรง กระปี้กระเปร่า มีความสุขทั้งกายและใจ ในหลายศาสนาได้บัญญัติข้อห้ามไม่ให้รับประทานอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกายไว้ เช่น สุรา ยา เสพติด ซากสัตว์ที่ตายเอง นอกจากนี้ยังสอนให้ซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่เป็นกรรมสิทธิ์หรือผู้ที่อยู่ภายให้การรับผิดชอบด้วยการดูแลเอาใจใส่ เช่น ทรัพย์สิน ตระกูล สามี ภรรยา พ่อแม่ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น